ตั้งอยู่ใกล้วัดดอนหวาย ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน เป็นตลาดชุมชนริมแม่น้ำนครชัยศรีพอๆ กับตลาดห้วยพลู ตลาดบางหลวง และตลาดอื่นๆ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ หลังคามุงด้วยสักกะสีและกระเบื้องหลายหลังติดต่อกันเรียงรายไปตามริมตลิ่งหันหน้าขึ้นบก หน้าร้านมีทางเดินติดต่อถึงกันได้ อีกฝั่งหนึ่งของทางเดินนั้นก็มีห้องแถวเป็นร้านค้าเรียงรายไม่เป็นระเบียบต่างคนต่างสร้างเช่นกัน เสาเรือนไม้ที่เป็นร้านค้าปักลงไปในน้ำส่วนหนึ่ง อยู่บนบกส่วนหนึ่ง มีท่าน้ำให้คนที่มาทางเรือเดินขึ้นไปบนตลาดได้ ผู้มาซื้อของทางเรือจะจอดเรือไว้ที่ท่าเรือ ห้องแถวของตลาดนี้เป็นห้องแถวชั้นเดียว มีความยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร หัวตลาดทางทิศเหนือติดกับที่ดินของวัดดอนหวาย ในช่วงปี ๒๕๓๘ ไม่เห็นมีโป๊ะ (ทุ่นลอยน้ำ) สำหรับให้เรือจอด ของที่ขายในตลาด ได้แก่ ร้านขายของชำ คือ ของที่จำเป็นต้องใช้ในบ้านได้แก่ อาหารสด อาหารแห้ง เครื่องครัว เครื่องใช้ในบ้าน นอกจากนี้ยังมีร้านที่ขายสิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วย เช่น ร้านขายเครื่องใช้ในการบวช งานศพ ร้านเสื้อผ้า ร้านตัดเสื้อ ตัดกางเกง ร้านตัดผม ดัดผม ร้านขายเครื่องก่อสร้าง ร้านขายเครื่องมือจับปลา ร้านขายอุปกรณ์การทำนาทำสวน ร้านขายเครื่องและซ่อมเครื่องหางเรือ ร้านขายอุปกรณ์การเรียน ตลอดจนร้านขายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องเรือและเครื่องสูบน้ำ ตลาดดอนหวายร้างผู้คนมาใช้บริการตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๔๐ เนื่องจากในช่วงนี้ถนนหนทางภายในอำเภอสามพรานเจริญขึ้น ทำให้การไปมาหาสู่กันและการไปจับจ่ายหาซื้อสินค้าต่างๆ ตามริมทางรถยนต์สะดวกขึ้นซื้อที่ร้านไหนก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะซื้อที่ตลาดดอนหวาย จึงทำให้ตลาดดอนหวายร้างผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยถึง ๓๐ ปี แต่อาคารร้านค้ายังมีเจ้าของอยู่ ผู้เช่าร้านเลิกเช่าแล้วเปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นผู้เช่าบางรายไม่รู้จะไปไหนก็คงยังอยู่ประทังชีวิตไป พอถึงปี พ.ศ.๒๕๔๐ กระแสสังคมหันมาสนใจความเป็นไทยแบบดั้งเดิมมากขึ้น ไม่ว่าอาหารการกินและการดำรงชีพแบบไทยๆ เมื่อมีผู้นำเรื่องฝีมือการประกอบอาหารคาวหวานของพ่อค้าแม่ค้าตลาดดอนหวายไปออกโทรทัศน์ เช่น เป็นพะโล้ ขนมตาล ห่อหมก และผลไม้ประจำถิ่น เช่น มะม่วงเขียวเสวย องุ่น ขนุน กล้วย ชมพู่มะพร้าวอ่อน ทำให้ผู้คนเกิดความสนใจบรรยากาศแบบไทยชนบทริมแม่น้ำนครชัยศรีเสมือนสถานที่ท่องเที่ยวและตลาดนัดชนบทที่ราคาถูกกว่าศูนย์การค้าในเมือง เดินทางมาหาความสุขในการจับจ่ายใช้สอยพืชผัก ผลไม้สดอาหารกลางวันรสดี พร้อมทั้งลงเรือล่องแม่น้ำนครชัยศรีทุกวัน โดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดของทางราชการและวันนักขัตฤกษ์ ปัจจุบันตาลดดอนหวายคืนความมีชีวิตชีวามากกว่าครั้งอดีต เพราะกลุ่มคนที่มาจับจ่ายใช้สอยนั้นเป็นคนนอกชุมชนระแวกนี้เป็นส่วนใหญ่ เช่นคนกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมทั้งนักทัศนาจรด้วยทำให้กิจการค้าขายคึกคักมีอาหารสูตรโบราณฟื้นตัวขึ้นมาบริการแก่ผู้นิยมไทยมากขึ้นเป็นพิเศษชนิดที่หาซื้อที่อื่นได้ยาก เช่น ปลาตะเพียนต้มเค็ม เป็ดพะโล้ แกงบอน ขนมตาล ลอดช่อง และขนมจันอับแบบจีน เป็นต้น ผู้ที่เคยเลิกราการค้าขายที่ตลาดดอนหวายเมื่อ ๓๐ ปีก่อน กลับมาค้าขายอย่างเดิมอีก พร้อมทั้งพ่อค้าแม่ค้ารายใหม่ที่เข้ามาจับจองสถานที่ขายที่ตลาดดอนหวายมากขึ้นกว่าเดิมมาก ร้านค้าอาหารที่อยู่ริมน้ำ เริ่มสร้างเรือนแพลงไปในแม่น้ำหลายราย เพื่อให้ผู้นั่งรับประทานอาหารชมบรรยากาศริมน้ำไปด้วยซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าจากในเมืองมาก ช่วงปี ๒๕๓๘ ศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดนครปฐม สถาบันราชภัฏนครปฐมได้ศึกษาวิจัย เรื่อง วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีขึ้น ออกสำรวจบรรยากาศแม่น้ำนครชัยศรีตลอดสาย แล้วพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ออกไปเป็นเหตุให้มีผู้คนสนใจจัดนักท่องเที่ยวมาล่องเรือในแม่น้ำนครชัยศรีกันหลายรายเรื่อยมา จนกระทั่ง ครูสวัสดิ์ นิ่มอนงค์ คิดดัดแปลงเรือบรรทุกข้าวมาบรรทุกนักท่องเที่ยวล่องไปตามแม่น้ำจากตลาดดอนหวายถึงวัดไร่ขิง และจากตลลาดดอนหวายถึงอำเภอนครชัยศรี ไปกลับใช้เวลามาเกิน ๑.๓๐ ชั่วโมง เป็นที่ถูกใจนักท่องเที่ยวและผู้มาตลาดดอนหวายมากทำให้ต้องสร้างเรือนักท่องเที่ยวมากขึ้นถึง ๑๐ ลำ บรรดาเรือที่เคยแล่นในแม่น้ำนครชัยศรี เมื่อ ๔๐ ปี ผ่านมาก็มีผู้เสาะหาเรือโบราณเหล่านั้นมาปรับปรุงใหม่ จนเป็นพาหนะสำหรับล่องเรือชมแม่น้ำนครชัยศรีของนักท่องเที่ยวหลายลำมีกระทั่งถึงเรือแบบหัวขวานสองชั้นของบริษัทสุพรรณขนส่ง ในอดีตก็ฟื้นคืนชีพ อีกครั้ง เหล่านี้เป็นผลให้เศษฐกิจบริเวรตลาดดอนหวายคึกคักเกิดความร่ำรวยตามกันมามากมายจนถึงปัจจุบัน พื้นดินรอบๆ วัดดอนหวายปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งร้านค้า และที่จอดรถเกือบหมด เพราะมีรถมาจอดวันละหลายร้อยคัน เกิดผู้ร่ำรวยระดับเศษฐีหลายรายกระทั่งสร้างคฤหาสถ์หลังงามอยู่ในระแวกนั้นหลายหลัง อย่างไรก็ตามผู้รับผิดพื้นที่บริเวณตลาดดอนหวายต้องตระหนักว่า ความเป็นตลาดดอนหวายคือ บรรยากาศแบบโบราณของตัวตลาดและอาหารเป็นสิ่งสำคัญถ้าเปลี่ยนบรรยากาศของโบราณไปเมื่อไรความเป็นตลาดดอนหวายหมดไปเมื่อนั้น และความนิยมของนักท่องเที่ยวก็จะพลอยหมดไปด้วย จึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงให้เป็นตลาดสมัยใหม่โดยเด็ดขาด
เขียนโดยadmin
เมื่อ 31 December 2006 14:59
| 1780 อ่านแล้ว ·
|
|